สัตว์เลี้ยงอ้วนขึ้นมาก ทำไงดี?! เหตุผลทางการแพทย์อธิบายหมาแมวน้ำหนักพุ่ง!

แม้ทุกสัตว์จะดูน่ารักไปหมดเวลาตัวกลมอ้วนตุ๊บ แต่นั่นอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่สุขภาพดีที่สุดสำหรับเหล่าสัตว์เลี้ยง บางคนถึงกับบอกว่ายิ่งอ้วนยิ่งน่ารัก! แต่บางครั้งความรักเหล่านั้นก็มาพร้อมกับโอกาสที่จะมีปัญหาสุขภาพมากมายตามมา

สัตว์เลี้ยงของเรานั้นเป็นเหมือนบ้านที่อบอุ่น เติมเต็มชีวิตเราด้วยความสุขและกอดหนุบหนับ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านน้ำหนักตัว โดยเฉพาะการที่น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่น่าเป็นห่วง แม้หลาย ๆ คนจะบอกว่าเจ้าน้องสัตว์เลี้ยงตัวจ้ำม่ำนั้นน่ารัก แต่น้ำหนักที่ขึ้นมาอย่างไม่มีสาเหตุอาจหมายถึงปัญหาสุขภาพหลายอย่างที่หลบซ่อนอยู่และต้องการการเอาใจใส่เป็นอย่างยิ่ง มาดูกันว่าเบื้องหลังน้ำหนักที่พุ่งขึ้นมาอย่างพรวดพราดของเจ้าน้องนั้นมีสาเหตุอะไรอยู่ และเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดีอยู่เสมอ!

⚠️ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)

เป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับทั้งสุนัขและแมว โดยจะเกิดขึ้นเมื่อต่อมไทรอยด์ไม่สามารถผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมาได้อย่างเพียงพอ ทำให้ระบบเผาผลาญทำงานได้น้อยลง นำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง แต่นอกเหนือจากนั้นแล้ว สัตว์เลี้ยงที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์อาจแสดงอาการอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น อาการเซื่องซึม ขนร่วง และสุขภาพเส้นขนไม่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรรู้สัญญาณเบื้องต้นเหล่านี้เพื่อที่จะได้พาสัตว์เลี้ยงเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

⚠️ ภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากผิดปกติ (Cushing’s Disease หรือ Hyperadrenocorticism)

โรคคุชชิง หรือ ภาวะต่อมหมวกไตชั้นนอกทำงานมากผิดปกติ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมามากจนเกินไป ฮอร์โมนที่ไม่สมดุลในร่างกายนี้มักจะทำให้ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยน้ำหนัก โดยเฉพาะอาการอ้วนลงพุง นอกจากนี้ยังอาจมีอาการกระหายเป็นอย่างมาก ปัสสาวะบ่อย กล้ามเนื้ออ่อนแรง และผิวหนังบางอีกด้วย การสังเกตเห็นถึงอาการดังกล่าวและวินิจฉัยโรคได้อย่างทันท่วงทีนั้นจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงสบายตัวได้มากขึ้นและป้องกันอาการแทรกซ้อนในอนาคตได้อย่างทันท่วงที

⚠️ อาการบวมน้ำ

อาการบวมน้ำ มักจะเกิดจากโรคหัวใจหรืออาการทางการแพทย์ที่ทำให้สัตว์เลี้ยงน้ำหนักขึ้น น้ำหนักที่เพิ่มมานี้จะสามารถสังเกตได้จากหน้าท้องที่บวมขึ้นก่อนที่จะตัวบวมตาม อาการที่สามารถเกิดขึ้นอื่น ๆ เช่น ไอ หายใจลำบาก และเซื่องซึม การเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างอาการบวมน้ำและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะสามารถช่วยให้เราสามารถยื่นมือเข้าช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยงได้แต่เนิ่น ๆ นั่นเอง

⚠️ โรคเบาหวาน

เบาหวาน เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญที่ส่งผลได้ทั้งกับสุนัขและแมว สามารถทำให้น้ำหนักขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากความอยากอาหารที่เพิ่มมากขึ้นและระดับน้ำตาลในเลือดที่ไม่ปกติ คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการสังเกตอาการของเจ้าน้องสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นความกระหายน้ำที่มากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อยครั้ง และความอยากอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นก็อาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน เมื่อรู้แล้วว่าโรคเบาหวานและน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ก็จะทำให้ทุกคนสังเกตและจัดการกับปัญหาสุขภาพของเจ้าน้องได้อย่างดียิ่งขึ้น

⚠️ ตั้งครรภ์

สำหรับสัตว์เลี้ยงเพศหญิง น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์นั้นเป็นเรื่องปกติ เพราะร่างกายของสัตว์เลี้ยงจะต้องโอบอุ้มเจ้าตัวน้อยที่เติบโตขึ้นทุกวันเอาไว้ในท้อง อย่างไรก็ตาม แม้น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงนี้จะถือเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมพาว่าที่แม่หมาแมวไปฝากครรภ์และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งแม่และลูกน้อยด้วย

⚠️ ปรสิต

ปรสิตบางชนิด เช่น หนอนในลำไส้ อาจนำไปสู่น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นของสัตว์เลี้ยง เนื่องจากปรสิตเหล่านี้จะกินสารอาหารที่จำเป็นของสุนัขและแมวเข้าไป ทำให้สัตว์เลี้ยงต้องกินอาหารเยอะขึ้นอย่างต่อเนื่อง การถ่ายพยาธิและการป้องกันเป็นประจำนั้นจะช่วยดูแลสุขภาพของเจ้าน้องให้ห่างไกลจากปรสิตเหล่านี้ได้มาก

สัตว์เลี้ยงอ้วนขึ้น ทำไงดี?!

  • 🧑‍⚕️ ปรึกษาสัตวแพทย์: ถ้าอยู่ดี ๆ หมาแมวที่บ้านก็น้ำหนักขึ้นอย่างรวดเร็ว การพาเจ้าน้องเข้าพบสัตวแพทย์และให้คุณหมอตรวจดูอาการนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง อย่าลืมว่ามีแต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่สามารถวินิจฉัยโรคให้เจ้าน้องและระบุอาการแทรกซ้อนที่แอบซ่อนอยู่ได้ รวมถึงเสนอทางรักษาที่เหมาะสมให้อีกด้วย
  • 🥩 ปรับการกิน: หลังจากไปหาสัตวแพทย์แล้ว คุณหมออาจบอกให้ทุกคนปรับแผนการกินให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น อาจมีการสั่งอาหารสูตรเฉพาะสำหรับควบคุมน้ำหนักที่จะช่วยควบคุมพลังงานที่ได้รับและช่วยให้ลดน้ำหนักลงได้นั่นเอง
  • 🦮 ออกกำลังกายเป็นประจำ: พาเจ้าตัวนุ่มฟูไปออกกำลังกายเป็นประจำ โดยวางแผนการออกกำลังกายให้เหมาะกับระดับพลังงาน อายุ และสุขภาพร่างกายของน้อง ๆ เพื่อเผาผลาญพลังงานและดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงทั้งกายและใจ
  • 💊 การใช้ยาและการรักษา: ขึ้นอยู่กับอาการหรือโรคที่ได้รับการวินิจฉัย คุณหมออาจสั่งจ่ายยาหรือดำเนินการรักษาเพื่อจัดการกับปัญหาสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรติดตามอาการของเจ้าน้องอย่างใกล้ชิดและปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมออย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน
  • 🩺 ตรวจสุขภาพเป็นประจำ: การพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพเป็นประจำนั้นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากในการติดตามว่าแผนการดูแลสุขภาพของเจ้าน้องนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง และต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการรักษาหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจพูดคุยกับสัตวแพทย์ตามตรง หากมีสิ่งที่เป็นกังวลใจหรือมีความเปลี่ยนแปลงอะไร
  • 🏡 จัดการความเครียด: ลดสิ่งที่กระตุ้นความเครียดในสภาพแวดล้อมรอบตัวเจ้าน้องขนฟูสามารถช่วยได้ เนื่องจากความเครียดนั้นอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้สัตว์เลี้ยงน้ำหนักเพิ่มขึ้น การมอบพื้นที่ที่สบายและปลอดภัย เสริมด้วยกิจกรรมฝึกทักษะ และรักษากิจวัตรประจำวันก็จะช่วยลดความเครียดของสัตว์เลี้ยงได้

น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างฉันพลันในสุนัขและแมวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะมันอาจเป็นตัวบ่งชี้ถึงโรคที่แอบซ่อนตัวอยู่และต้องการการดูแลอย่างเร่งด่วน การพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ กินอาหารที่มีประโยชน์และสมดุล รวมถึงให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของสัตว์เลี้ยงนั้นเป้นสิ่งที่จำเป็นต่อการรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีของสัตว์เลี้ยงเป็นอย่างมาก

การตรวจจับและเข้าช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงอย่างรวดเร็วนี้จะสร้างความแตกต่างได้มากในการดูแลสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ช่วยให้เพื่อนขนฟูของเรานั้นมีชีวิตที่ดี มีความสุข และสุขภาพที่ดี อย่าลืมว่าในฐานะคุณพ่อคุณแม่สัตว์เลี้ยงแล้ว พวกเราเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ด! 🐾🏥🐕🐈


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!