ส่องวิธีเล่นกับหมาแมวอย่างถูกต้องและสิ่งที่ห้ามทำ!

เป็นที่รู้กันว่าการเล่นกับหมาแมวสามารถเยียวยาหัวใจให้กับคุณพ่อคุณแม่สัตว์เลี้ยงได้เป็นอย่างดี และความน่ารักน่าเอ็นดูที่ฟูฟ่องนี้ก็ไม่ได้ส่งผลแค่กับมนุษย์คนโปรดเท่านั้น แต่ไม่ว่าจะคุณพ่อคุณแม่จะพาน้องหมาไปเจอใคร หรือพาใครมาเจอน้องแมวที่บ้าน แทบทุกคนที่พบเห็นกับสิ่งมีชีวิตแสนนุ่มฟูก็คงรู้สึกว่ามันช่างยากเหลือเกินที่จะหักห้ามตัวและหักห้ามใจตัวเองไม่ให้ยื่นมือไปขยี้ขนให้หายมันเขี้ยว!

แม้การเล่นกับสุนัขและแมวนั้นดูจะไม่ใช่อะไรที่เป็นเรื่องยาก แต่ที่จริงแล้วคนส่วนใหญ่นั้นไม่รู้วิธีเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเข้าใจได้ เพราะเราไม่รู้นี่นาว่าถ้าจับตรงไหนแล้วเจ้าน้องเขาจะไม่ชอบหรือเปล่า?! แต่หากพวกเราเรียนรู้วิธีการเล่นกับหมาแมวได้อย่างถูกต้อง รวมถึงรู้ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ก็จะทำให้การเข้าหาสัตว์เลี้ยงครั้งต่อ ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นหมาแมวที่บ้านหรือหมาแมวของคนอื่นกลายเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังป้องกันอันตรายจากการกระตุ้นสัตว์เลี้ยงมากจนเกินไป จนทำให้เกิดอาการฉุนขาดได้ด้วยนะ!

ทำไมการเล่นกับสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ

สัตว์เลี้ยงทุกตัวล้วนมีความแตกต่าง และคล้ายกันกับมนุษย์ที่มีสิ่งที่ชอบและไม่ชอบเป็นของตัวเอง ในขณะที่น้องหมาบางตัวสามารถเล่นสนุกและทักทายมนุษย์ได้ทุกคนที่เดินเข้ามาหา บางตัวก็อาจรู้สึกว่าถูกคุกคามจากเข้าสิ่งมีชีวิตสองขาอย่างเรา ๆ ได้เหมือนกัน หรือแม้แต่เจ้าแมวเหมียวที่เลี้ยงดูกันมาตั้งแต่ยังตัวเท่าฝ่ามือ ถึงจะเป็นคนที่คุ้นเคย แต่หากไปจับในบริเวณที่น้องไม่ชอบหรือกระตุ้นส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการปะทะได้เหมือนกัน

สิ่งเหล่านี้จะมีความสำคัญมากเมื่อคนที่เข้ามาทักทายสัตว์เลี้ยงของเราเป็นคนแปลกหน้า เด็ก หรือคนที่ไม่คุ้นเคยกับสัตว์สักเท่าไหร่ หรือแม้กระทั่งคนที่มีลักษณะคล้ายกับคนที่เคยมาทำร้ายสัตว์เลี้ยงของเราในกรณีที่รับน้องมาเลี้ยง เพราะเพียงแค่เสี้ยววินาทีที่สัตว์เลี้ยงของเราโจมตีออกไปด้วยความกลัวสัมผัสจากคนเหล่านี้ ก็อาจเป็นสิ่งที่จะทำให้เป็นปมในใจของคน ๆ นั้นไปตลอดชีวิต กับสัตว์เลี้ยงของเราเองก็เช่นเดียวกัน

การเข้าหาสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเล่นกับเจ้าน้องหมาแมวได้อย่างเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น รวมถึงมีการเคารพขอบเขตซึ่งกันและกัน ไม่ทำในสิ่งที่ฝืนใจน้อง ๆ จนเกิดเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวั่นใจในที่สุด

เรามาดูกันว่าวิธีเล่นกับหมาแมวอย่างถูกต้องและสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเล่นกับสัตว์เลี้ยงนั้นมีอะไรบ้าง!

✔️ วิธีเล่นกับหมา 🐶

  • ถามคนจูงก่อนเสมอ ✔️ สำหรับคนที่ออกไปนอกบ้านแล้วเจอเจ้าน้องแสนน่ารักมากับคนจูงน้องหมา หรือคุณพ่อคุณแม่ที่พามะหมามาเดินเล่น อย่าลืมทักทายมนุษย์ก่อน และถามว่าจับได้หรือไม่ เพราะสุนัขบางตัวอาจจะไม่ชินกับมือคนแปลกหน้าและอาจจะโจมตีได้ บางคนอาจจะมีป้ายติดไว้ที่รถเข็น หรือห้อยป้ายไว้ที่ปลอกคอและสายจูงน้องหมาด้วย ยังไงลองถามกันเพื่อความชัวร์นะ!
  • เข้าหาอย่างช้า ๆ ✔️ แม้เราจะตื่นเต้นกับความน่ารักขนาดไหน การเข้าหาสุนัขอย่างฉับพลันหรือรวดเร็วเกินไปจะทำให้น้อง ๆ ตกใจ อาจจะมีการขู่หรือเห่าได้ ให้ทุกคนทำตัวนิ่ง ๆ ไว้ อาจพูดด้วยเสียงสูง ๆ ค่อย ๆ เดินเข้าหา แล้วรอให้เจ้าน้องเข้าหาเราด้วยเหมือนกัน
  • ลูบให้ถูกที่ ✔️ เหม่งของมะหมาเป็นจุดที่ยากจะห้ามใจในการลูบ แต่ที่จริงแล้วสุนัขไม่ค่อยชอบให้มีอะไรผ่านหัวหรือหน้าของตัวเองไป ควรเริ่มจากด้านหน้าที่น้องหมามองเห็นมือเราได้ อย่างการลูบขนหน้าอกตรงกลางและบริเวณข้าง หลังส่วนหน้าและกลาง และบริเวณหลังใบหู

❌ สิ่งที่ห้ามทำเมื่อเล่นกับหมา 🐶

  • จ้อง ❌ การจ้องสุนัขตาเขม็งไม่ได้ช่วยให้เราเป็นเพื่อนกันได้ง่ายขึ้น เพราะน้องหมาจะตีความว่าเราเป็นภัยอันตรายมากกว่า
  • กอดแน่น ๆ ❌ แม้จะเป็นสิ่งที่ยากจะห้ามใจ แต่ทุกคนต้องอดใจไว้ให้ดี เพราะสุนัขไม่ว่าจะพันธุ์เล็กหรือใหญ่ก็ไม่ได้ชื่นชอบการกอดสักเท่าไหร่ ยิ่งเป็นกอดจากคนแปลกหน้าอีกต่างหาก! เพราะการกอดทำให้น้องหมารู้สึกเครียดที่ไม่สามารถหลบหนีได้นั่นเอง
  • ฝืนใจน้อง ❌ สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างในการเล่นกับน้องหมา ไม่ว่าเจ้าน้องจะทำท่าไม่ชอบใจตั้งแต่แรก หรือเล่นไปสักพักแล้วเริ่มแสดงท่าทีไม่ชอบ พยายามถอย หรือหันหน้าหนี ทุกคนก็ไม่ควรฝืนใจน้องต่อไปนะ

✔️ วิธีเล่นกับแมว 🐱

  • ยื่นนิ้ว ✔️ วิธีการทักทายพื้นฐานเมื่อพบเจอกับแมวนอกบ้าน หากรู้สึกว่าอยากเล่นด้วย ให้ลองยื่นนิ้วไปทักทายดูก่อนในระดับเดียวกันกับจมูกของน้อง เป็นการเลียนแบบการทักทายด้วยจมูกแบบแมว ๆ ถ้าเจ้าเหมียวดม ๆ นิ้วหรือเอาหน้ามาถู ๆ นิ้วเราก็แปลว่าให้ลูบได้
  • ลูบหัว ✔️ น้องแมวชื่นชอบการลูบบริเวณใบหน้า คาง หน้าผาก และรอบ ๆ ใบหู เพราะเป็นส่วนที่แมวจะปล่อยกลิ่นจับจองมนุษย์เป็นเจ้าของ ทำให้ชื่นชอบมากเวลาที่มีคนมาสัมผัสและเกาเบา ๆ นอกจากนี้ก็สามารถลูบจากหัวไปถึงโคนหางแบบตรง ๆ ได้เช่นกัน
  • รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุด ✔️ แม้แมวเหมียวที่เป็นมิตรที่สุดก็อาจจะรำคาญได้ในที่สุดเช่นเดียวกัน การกระตุ้นมากเกินไปอาจทำให้น้องแมวรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือเจ็บตัวได้ แต่ทุกคนสามารถรู้ได้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรหยุดโดยการสังเกตอาการของเจ้าน้อง ดูหางที่กระตุกไปมา อาจมีเสียงขู่น้อย ๆ หรือถ้าดุหน่อยก็อาจจะหันมางับเตือนเราได้เช่นเดียวกัน

❌ สิ่งที่ห้ามทำเมื่อเล่นกับแมว 🐱

  • บังคับอุ้ม ❌ การอุ้มแมวที่เราไม่รู้จักนั้นอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ทั้งกับตัวเจ้าน้องและตัวเราเอง เพราะจะทำให้ตกใจและรู้สึกเหมือนอยู่ในอันตราย อาจจะพยายามกางเล็บและข่วน หรือเราอาจจะปล่อยมือจนน้องหล่นได้ เพราะฉะนั้นอย่าบังคับน้องจะดีกว่านะ
  • ลูบพุง ❌ ไม่ใช่แมวทุกตัวที่ชื่นชอบการลูบพุง หยุมพุง จกพุง หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตาม เพราะหน้าท้องเป็นบริเวณที่อ่อนไหวและน้องแมวหวงแหน หากไปจับเข้าอาจจะโดนตบเอาได้ นอกเหนือจากการลูบพุงแล้ว ยังมีบริเวณอื่น ๆ ที่น้องแมวไม่ชื่นชอบสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการหาง ขาหน้า และขาหลังนั่นเอง
  • ลูบทวนขน ❌ แมวเป็นสิ่งมีชีวิตที่ใส่ใจในขนของตัวเองมาก และมักจะเลียตัวเองให้เรียบร้อยอยู่เสมอ การที่เราไปลูบทวนขนนั้นทำให้แมวรู้สึกระแคะระคายและไม่ชอบจนอาจจะหงุดหงิดได้

ไม่ว่าเพื่อน ๆ จะเดินไปเจอหมาแมวจรที่น่ารักน่าเอ็นดู เจอเจ้าขนฟูที่มาพร้อมคุณพ่อคุณแม่ หรือแม้กระทั่งกลับบ้านมาเล่นกับสัตว์เลี้ยงที่บ้าน อย่าลืมทดวิธีเล่นกับหมาแมวอย่างถูกต้องและสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อเล่นกับสัตว์เลี้ยงเหล่านี้เอาไว้ในใจ เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและของเจ้าน้อง สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ หากเจอสัตว์เลี้ยงที่มากับมนุษย์ อย่าลืมทักทายกันก่อนที่จะขออนุญาตจับน้องด้วยล่ะ นอกจากนี้การรักษาความสะอาดทั้งก่อนและหลังการเล่นก็ส่งผลกับสุขอนามัยของทั้งคนและสัตว์เลี้ยงได้ด้วยเหมือนกัน หากแถวนั้นไม่มี ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือก็ช่วยได้นะ!

คราวหน้าถ้าเดินไปเจอหมาแมวที่น่ารักแล้วอยากเล่นด้วย ก็อย่าลืมนึกถึงวิธีเล่นกับหมาแมวอย่างถูกต้องและสิ่งที่ห้ามทำทั้งเราเอามาฝากกันในวันนี้ด้วยล่ะ!


🥰 MyFriend’s Parent things! ทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์พ่อแม่ ทั้งไลฟ์สไตล์ วิธีดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกต้อง และกิจกรรมสนุก ๆ เรารวมมาไว้ให้ทุกคนที่นี่แล้ว!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!