Pet first aid: วิธีปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยง

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น และถ้าเลือกได้ทุกคนก็พยายามอย่างที่สุดที่จะหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะกับเจ้าน้องสัตว์เลี้ยงของเราที่หลาย ๆ ครั้งก็ประสบอุบัติเหตุหรือเล่นสนุกจนเจ็บตัวเข้า ถึงแม้จะไม่ใช่ความผิดของใคร และเจ้าหมาแมวของเราก็มักจะไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเวลาบาดเจ็บอะไรมา แต่ในเวลาแบบนี้แหละที่วิธีปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงสามารถสร้างความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายได้!

ในสถานการณ์ฉุกเฉิน วิธีปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้ในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะนำส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตวแพทย์ที่ใกล้ที่สุดได้อย่างปลอดภัย ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่ม แต่การปฐมพยาบาลเป็นวิธีช่วยเหลือเบื้องต้นเท่านั้น ไม่สามารถทดแทนการพาสัตว์ที่เจ็บป่วยไปเข้ารับการรักษาได้ ถ้าหากเกิดเหตุฉุกเฉินใด ๆ ขึ้น คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบตั้งสติและนำสัตว์เลี้ยงส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกให้เร็วที่สุด

แบบไหนคือฉุกเฉิน?

เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น ตัววัดระดับความฉุกเฉินของแต่ละคนอาจจะไม่เท่ากัน ยิ่งกับเจ้าสัตว์เลี้ยงที่บางทีอาจจะยังวิ่งเล่นต่อไปได้อีกทั้งที่ขาห้อยต่องแต่งไปแล้วก็ตาม! เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญคือการมองหาอาการที่ฉุกเฉินเหล่านี้และพาสัตว์เลี้ยงไปพอสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุดก่อนที่จะสาย โดยเฉพาะเมื่อหมาแมวมีอาการดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุ จากโรคประจำตัว หรือจากอาการที่ไม่เคยมีมาก่อนก็ตาม

  • ไม่หายใจหรือหายใจลำบาก
  • ไม่ตอบสนอง
  • ล้มลงแล้วไม่สามารถลุกขึ้นมาได้อีก
  • มีอาการชัก
  • มีกระดูกหักหรือร้าว
  • เคลื่อนไหวลำบากหรือการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ไม่สัมพันธ์กัน
  • กินของมีพิษเข้าไป (ดู พืชชนิดไหนไม่ดีกับสัตว์เลี้ยง?)
  • มีอาการอาเจียนหรือท้องเสียมานานกว่า 24 ชั่วโมง
  • มีเลือดไหลมากหรือไหลไม่หยุด

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นกังวลมากและคิดว่ามีอะไรบางอย่างผิดปกติเกี่ยวกับเจ้าน้อง แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร การพาเจ้าน้องไปพบคุณหมอผู้เชี่ยวชาญจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แม้จะไม่ได้มีอาการฉุกเฉินดังกล่าว

ชุดปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยง (Pet first aid kit)

ในขณะที่มนุษย์เรามียาสามัญประจำบ้านพร้อมกับชุดปฐมพยาบาล สำหรับบ้านที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นตัวอะไร เราก็ขอแนะนำให้มีชุดปฐมพยาบาลหรือกล่องพยาบาลสำหรับสัตว์เลี้ยงติดบ้านไว้ด้วย เพื่ออย่างน้อยจะได้มีอุปกรณ์เบื้องต้นในการดูแลน้อง ๆ โดยในชุดปฐมพยาบาลควรมีสิ่งเหล่านี้

  • ผ้าพันแผล
  • ผ้าก๊อซ
  • กรรไกรปลายมน
  • น้ำยาล้างแผล
  • สำลี
  • แหนบ
  • เทปพันแผล
  • ถุงมือยาง
  • แผ่นฟอยล์
  • ทิชชู่เปียกฆ่าเชื้อ

นอกจากชุดปฐมพยาบาลจะมีประโยชน์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นในบริเวณบ้านแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถพกพาไปไหนมาไหนเมื่อต้องเดินทางไปพร้อมกับสัตว์เลี้ยงได้ ไม่ว่าจะเป็นทริปใกล้หรือไกลบ้านก็ตาม หรือจะมีติดรถไว้ก็ได้เช่นเดียวกัน!

วิธีปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยง

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิด แต่ถึงอย่างนั้นก็มีอุบัติเหตุหลายแบบที่มักจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าอย่างอื่น เราจึงได้รวบรวมวิธีปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาให้เพื่อน ๆ ทุกคน

คำเตือน: หากเพื่อน ๆ รู้สึกว่าวิธีปฐมพยาบาลในบางข้อมันยากเกินไป หรือต้องใช้เวลานานเกินไปในการเตรียมตัวทำให้ถูกต้อง การพาสัตว์เลี้ยงนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุดนั้นจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะหากทำการปฐมพยาบาลอย่างไม่ถูกต้องก็อาจส่งผลให้บาดเจ็บมากกว่าเดิมได้เช่นเดียวกัน

สำลักติดคอ หากสัตว์เลี้ยงสำลักหรือมีอะไรติดคอ จะมีอาการหายใจลำบาก สำลักเมื่อหายใจหรือไอ ริมฝีปากและลิ้นมีสีคล้ำ

วิธีปฐมพยาบาล: จับอ้าปากเพื่อดูว่ามีอะไรติดอยู่ในลำคอหรือไม่ หากเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ ให้ใช้คีมคีบออกอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ผลักเข้าไปลึกกว่าเดิมหรือโดนสัตว์เลี้ยงกัด แต่หากสัตว์เลี้ยงล้มลงหรือไม่สามารถเอาสิ่งที่ติดคออยู่ออกได้ ให้จับนอนหงาย วางมือลงตรงบริเวณซี่โครงทั้งสองข้างให้กระชับ แล้วกดลงอย่างรวดเร็ว หรือจับนอนตะแคงข้างแล้วกดบริเวณซี่โครงด้วยฝ่ามือ ทำซ้ำจนกว่าจะไปถึงโรงพยาบาลสัตว์


ไม่หายใจ หากสัตว์เลี้ยงไม่หายใจ คุณพ่อคุณแม่ต้องติดต่อโรงพยาบาลสัตว์โดยด่วน แล้วทำการปฐมพยาบาล

วิธีปฐมพยาบาล: ตรวจดูว่าสัตว์เลี้ยงยังมีสติและชีพจรอยู่หรือไม่ เปิดทางเดินหายใจโดยดึงลิ้นออกมาอย่างเบามือ ตรวจดูว่าในลำคอมีอะไรขวางอยู่หรือไม่ ถ้ามีให้เอาออก หรือถ้าไม่มีให้ปิดปากแล้วเป่าลมเข้าทางจมูกจนกว่าจะเห็นหน้าอกพองขึ้น ทำซ้ำไปทุกห้าวินาที หากสัตว์เลี้ยงยังไม่ฟื้น ให้นำสัตว์เลี้ยงส่งโรงพยาบาลสัตว์ให้เร็วที่สุด

ไม่มีสัญญาณชีพ หากสัตว์เลี้ยงไม่มีสัญญาณชีพ ให้โทรหาโรงพยาบาลสัตว์โดยด่วน และปฐมพยาบาลขณะนำตัวส่งให้ถึงมือคุณหมอสัตวแพทย์

วิธีปฐมพยาบาล: พยายามฟังและจับหาชีพจร จับสัตว์เลี้ยงนอนตะแคงลงพื้นแข็ง วางมือข้างหนึ่งลงบนหน้าอกแล้ววางอีกข้างไว้บริเวณหัวใจ (ด้านหลังศอกขาหน้าซ้าย) กดเพื่อกระตุ้นหัวใจด้วยความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที เมื่อกดครบ 30 ครั้ง ให้เป่าปากเพื่อให้ลมหายใจ สลับกันจนได้ยินเสียงหรือสัมผัสได้ถึงชีพจร หรือเมื่อมาถึงมือสัตวแพทย์

ฮีทสโตรก ในสภาพที่อากาศร้อนจัด หากสัตว์เลี้ยงหอบหายใจอย่างแรง หายใจลำบาก ลิ้นและเหงือกแดง น้ำลายไหล วิงเวียน มึนงง มีอาการชัก ยืนไม่ไหวและเข่าทรุด แสดงว่ามีอาการฮีทสโตรก

วิธีปฐมพยาบาล: พาน้องเข้าที่ร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อน แต่ห้ามใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง เพราะจะเป็นอันตรายกับความดันเลือดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เอาพัดลมเป่ารอบ ๆ ตัวเพื่อช่วยระบายความร้อน ให้ดื่มน้ำอุณหภูมิห้อง แต่ไม่ต้องบังคับถ้าน้องดื่มไม่ไหว หากอาการไม่ดีขึ้น ให้รีบพาไปหาคุณหมอที่คลินิกที่ใกล้ที่สุดทันที

อาการช็อค อาจจะเกิดขึ้นได้เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการของโรคที่รุนแรง หรือกลัวสุดขีด อาจมีอาการชีพจรต่ำมาก ลมหายใจแผ่วเบา หมดสติ ตาลอย

วิธีปฐมพยาบาล: ให้นำส่งโรงพยาบาลสัตว์ทันที โดยวางหัวและตัวของสัตว์เลี้ยงในระนาบเดียวกัน สามารถใช้ผ้ามัดปากหรือใส่ตะกร้อครอบปาก เนื่องจากตอนที่สัตว์เลี้ยงเจ็บปวดหรือกลัวมาก ๆ อาจจะกัดคนรอบข้างได้

ได้รับสารพิษ เมื่อสัตว์เลี้ยงได้รับสารพิษจะมีอาการอาเจียนและท้องเสีย มีพฤติกรรมแปลกไป ไม่อยากอาหาร เหงือกซีด มีอาการชัก ร่างกายอ่อนแรงและล้มลง

วิธีปฐมพยาบาล: ติดต่อสัตวแพทย์ทันที เนื่องจากการปฐมพยาบาลเบื้องต้นจะแตกต่างกัน เมื่อปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้วให้รีบพาเจ้าส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตวแพทย์ หากรู้ว่าสัตว์เลี้ยงได้รับสารพิษอะไรมา ให้จำชื่อหรือพกสิ่งนั้นไปให้สัตวแพทย์ช่วยตรวจสอบด้วย

ชัก อาการชักอาจเป็นสัญญาณของโรคลมชักหรือโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ โดยอาจมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น อาการเครียดและวิตกกังวล ตัวสั่นเทา ปัสสาวะหรืออุจจาระขณะชัก น้ำลายฟูมปาก เป็นต้น

วิธีปฐมพยาบาล: ติดต่อสัตวแพทย์ทันทีและจับเวลาที่เกิดอาการชัก เอาของที่อาจจะเป็นอันตรายรอบ ๆ ตัวออกห่างเพื่อป้องกันไม่ให้ชนจนบาดเจ็บเพิ่มเติม อย่าพยายามล็อคตัวไว้ให้นิ่ง ให้อยู่ในที่ที่เงียบสงบและไม่มีแสงไฟวูบวาบ และนำส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์

แผลไหม้ อาจเป็นแผลที่เกิดจากความร้อนหรือจากสารเคมีก็ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรสำรวจพื้นที่รอบข้างและป้องกันตัวเองด้วยเช่นกัน

วิธีปฐมพยาบาล: ไม่ว่าจะเป็นแผลไหม้จากความร้อนหรือสารเคมี ควรโทรหาสัตวแพทย์และล้างแผลด้วยน้ำในปริมาณมาก หากเป็นแผลที่เกิดจากสารเคมี ต้องระวังไม่ให้น้ำล้างแผลนั้นกระเด็นเข้าตา

เลือดออกภายใน เป็นอาการที่สังเกตเห็นได้ยาก อาจมีอาการที่รุนแรงได้มาก และต้องการความช่วยเหลือทันที โดยจะมีอาการเหงือกซีด ชีพจรแผ่ว หน้าท้องบวม ร่างกายทรุดลง มีเลือดออกทางจมูก ปาก หรือทางทวารหนัก

วิธีปฐมพยาบาล: ติดต่อและนำส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์ที่ใกล้ที่สุด โดยรักษาอุณหภูมิให้อบอุ่นและไม่ส่งเสียงดัง

เลือดออกภายนอก หากสัตว์เลี้ยงมีเลือดออกมาก โดยไม่ใช่แค่แผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สามารถทำแผลเองได้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบนำสัตว์เลี้ยงส่งโรงพยาบาล เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีปฐมพยาบาล: ขณะนำตัวสัตว์เลี้ยงไปส่งโรงพยาบาล ให้ห้ามเลือดด้วยการกดผ้าขนหนูสะอาดบนบริเวณแผลอย่างน้อย 3 นาที แล้วตรวจสอบดูว่าเลือดยังไหลอยู่อีกหรือไม่ ปิดด้วยผ้าพันแผลและกดแผลไว้ สามารถปล่อยหลวม ๆ ได้ครั้งละ 20 วินาทีเมื่อกดครบ 15-20 นาที

กระดูกหัก อาจมีอาการบวมในบริเวณที่หักหรือร้าว มีการแสดงออกถึงความเจ็บปวด ส่งเสียงร้อง ไม่สามารถลงน้ำหนักไปที่ตรงส่วนนั้นได้

วิธีปฐมพยาบาล: จำกัดการเคลื่อนไหวของสัตว์เลี้ยงด้วยการให้อยู่ในกรง ถ้าไม่สามารถเดินได้ให้จับนอนราบไปกับพื้นขณะขนย้ายไปโรงพยาบาลสัตว์

แม้อุบัติเหตุและความเจ็บปวดต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ในบางครั้งมันก็เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่คุณพ่อคุณแม่รู้วิธีปฐมพยาบาลสัตว์เลี้ยงเบื้องต้นก็จะช่วยให้มีสติมากขึ้น และรู้ว่าควรทำอะไรต่อไปหากเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม การปฐมพยาบาลนั้นเป็นเพียงการช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนที่จะนำสัตว์เลี้ยงส่งโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่จำเป็นต่อไป นอกจากนี้ หากรู้สึกว่าไม่มั่นใจที่จะทำการปฐมพยาบาลหรือต้องใช้เวลานานเกินไปในการเตรียมอุปกรณ์หรือหาข้อมูล การติดต่อสัตวแพทย์และนำสัตว์เลี้ยงส่งโรงพยาบาลเลยก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เลวร้ายแต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ชีวิตของสัตว์เลี้ยงนั้นเป็นสิ่งที่เราต้องเลือกก่อนเสมอ


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!