สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิต พวกเราต่างพยายามดูแลสุขภาพของตัวเองเป็นอย่างดี เพราะร่างกายนี้เป็นสิ่งเดียวที่อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิดไปจนถึงวันสุดท้าย สุขภาพที่แข็งแรงแจ่มใสจึงสามารถรับประกันความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีของเราได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอาหารการกินก็เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุดเลยก็ว่าได้ในการดูแลสุขภาพ เพราะทุกมื้ออาหารล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราเสมอในทุก ๆ วัน และไม่ได้มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้ดี สัตว์เลี้ยงของเราเองก็เช่นเดียวกัน!
สุนัขและแมวนั้นเป็นเพื่อนรักของมนุษย์มาเป็นระยะเวลายาวนาน จากที่แต่เดิมน้อง ๆ เคยออกล่าหาอาหารด้วยตนเอง ตอนนี้ก็กลายเป็นมีมนุษย์อย่างเราช่วยดูแล ไม่ว่าจะเป็นการให้อาหารเม็ด อาหารเปียก บางบ้านอาจจะทำอาหารให้น้อง ๆ กินเอง ในปัจจุบันมีทางเลือกอาหารสัตว์เลี้ยงอีกมากมายที่ให้คุณพ่อคุณแม่ได้ดูแลสุขภาพของน้องหมาและน้องแมว โดยในวันนี้เราจะพาทุกคนมาดูกันว่าในฐานะมนุษย์คนโปรด เราจะวางแผนการกินอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของน้อง ๆ ได้ยังไง ปริมาณและความถี่ในการให้อาหารสัตว์เลี้ยงคือเท่าไหร่ และข้อควรระวังเพื่อการดูแลสุขภาพของน้อง ๆ มีอะไรบ้าง ถ้าอยากรู้แล้ว ไปดูกัน!
คำถามง่าย ๆ ที่ตอบได้ยาก ด้วยความที่สิ่งมีชีวิตทุกอย่างบนโลกใบนี้นั้นมีความแตกต่างกัน ถึงแม้จะเป็นสุนัขเหมือนกัน สายพันธุ์เดียวกัน ช่วงวัยใกล้ ๆ กัน แต่เมื่อเป็นคนละตัวก็อาจจะมีความต้องการทางด้านโภชนาการที่แตกต่างกันได้ แต่หากเราจะแบ่งกลุ่มใหญ่ ๆ ก็สามารถทำได้คร่าว ๆ ดังนี้
พลังงานที่สัตว์เลี้ยงแต่ละตัวและแต่ละช่วงวัยนั้นจะมีความแตกต่างกัน สัตว์สายพันธุ์ใหญ่จะมีความต้องการพลังงานมากกว่าสัตว์สายพันธุ์เล็ก รวมถึงช่วงวัย กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน และการออกกำลังกายก็มีผลต่อความต้องการพลังงานในแต่ละวันของสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน โดยเราสามารถให้อาหารสัตว์เลี้ยงโดยแยกตามช่วงวัยได้ดังต่อไปนี้
ลูกสุนัขและลูกแมว สุนัขและแมวในช่วงวัยเด็กนั้นจะมีความต้องการพลังงานค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัยอื่น ๆ เนื่องจากร่างกายกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยอาหารสูตรลูกสุนัขและลูกแมวมักจะมีปริมาณไขมันมาก เมื่อเทียบกับโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้ยังเป็นวัยที่ไม่ควรบริโภคอาหารดิบ (Raw Diets) เนื่องจากสุนัขและแมวเด็กนั้นยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากพอต่อสู้กับแบคทีเรียมากมายในอาหารสด และการรักษาสมดุลโภชนาการอาหารสำหรับสุนัขและแมววัยนี้ก็ทำได้ค่อนข้างยากอีกด้วย
สุนัขและแมววัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ หลังจากที่สัตว์เลี้ยงของเราเริ่มโตขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนมาเป็นอาหารหมาแมวโตได้ โดยค่อย ๆ ปรับเพิ่มอาหารสูตรใหม่ไปทีละนิด มีการปรับลดปริมาณไขมันลง และให้อาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุมากขึ้น
สุนัขและแมวสูงวัย สัตว์เลี้ยงจะเข้าสู่วัยนี้เมื่ออายุประมาณ 7-8 ปี ร่างกายของน้อง ๆ จะมีความกระตือรือร้นน้อยลง ทำให้ต้องการพลังงานที่น้อยลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของสัตว์เลี้ยงตัวนั้น ๆ หากเป็นสัตว์สูงวัยที่มีโรคเรื้อรัง อาจต้องการพลังงานมากกว่าเพื่อรักษาน้ำหนักตัวเอาไว้ หากเป็นสัตว์สูงวัยที่สุขภาพดีจะต้องการโปรตีนมากเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ
สุนัขและแมวในแต่ละช่วงวัยจะมีความต้องการสารอาหารที่แตกต่างกัน โดยต่อไปนี้จะเป็นปริมาณที่แนะนำ แต่อย่าลืมว่าคุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาสัตวแพทย์และวางแผนโภชนาการสำหรับสัตว์เลี้ยง เพื่อให้แน่ใจว่าเจ้าน้องจะได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพียงพอ ไม่ขาดไม่เกิน และอย่าลืมให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ เสมอด้วยนะ!
คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกซื้ออาหารสัตว์เลี้ยงที่มีวางขายอยู่ทั่วไปได้ ทั้งในรูปแบบอาหารเม็ดที่สามารถให้สัตว์เลี้ยงกินได้ง่าย ๆ อาหารเปียกที่มีปริมาณน้ำอยู่สูง ช่วยให้สัตว์เลี้ยงได้บริโภคน้ำมากขึ้น อาหารฟรีซดรายที่มีเมนูหลากหลาย หรืออาหารประเภทอื่น ๆ ที่มีมาตรฐาน หรือจะประกอบอาหารให้สัตว์เลี้ยงกินเองก็สามารถทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่ว่าจะให้อาหารแบบใดก็คือต้องให้สัตว์เลี้ยงได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ ไม่น้อยเกินไปจนขาดสารอาหารอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมากเกินไปจนเกิดโรคอ้วนในสัตว์เลี้ยงนั่นเอง
นอกเหนือจากอาหารสัตว์เลี้ยงที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัยแล้ว ยังมีอาหารสัตว์เลี้ยงสูตรพิเศษที่คิดค้นมาเพื่อให้เหมาะกับเงื่อนไขทางด้านสุขภาพต่าง ๆ ของสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่สูตรสัตว์เลี้ยงที่กำลังตั้งท้อง สูตรประกอบการรักษาโรค สูตรควบคุมน้ำหนัก เป็นต้น โดยบางสูตรอาจไม่มีขายตามท้องตลาดหรือต้องซื้อกับโรงพยาบาลหรือคลินิกสัตว์เท่านั้น หากสัตว์เลี้ยงที่บ้านมีปัญหาสุขภาพ คุณพ่อคุณแม่อย่าพยายามวินิจฉัยโรคด้วยตนเอง ให้พาไปหาคุณหมอเพื่อตามหาว่าเจ้าน้องมีอาการอะไรบ้าง และวางแผนการรักษาและการกินให้เป็นไปตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ
แม้หมาแมวจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชื่นชอบการกินไม่แพ้มนุษย์และทำตัวเหมือนจะกินได้ทุกอย่าง แต่ที่จริงแล้วปัญหาสุขภาพหลาย ๆ นั้นก็เกิดมาจากปัญหาการกินของน้อง ๆ ซึ่งบางอย่างก็สามารถป้องกันได้แต่เนิ่น ๆ โดยมนุษย์คนโปรดอย่างเรา ๆ นี่เอง MyFriend ขอรวบรวมข้อควรระวังในการให้อาหารสัตว์เลี้ยงพร้อมเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ มาให้ทุกคนได้ดูกัน และหากใครกำลังทำข้อไหนอยู่ ปรับตัวตอนนี้ก็ยังทันนะ!
ระวังอาหารมนุษย์ แม้จะเป็นอะไรที่ใคร ๆ ก็รู้กัน แต่พอเอาเข้าจริง ๆ แล้วก็ดูจะทำได้ยากนัก เพราะสายตาและท่าทางของน้อง ๆ นั้นช่างเกินจะห้ามใจจะยอมเสียสละของกินให้สักคำสองคำ แต่ทุกคนต้องอย่าลืมว่าอาหารมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยสารปรุงแต่ง โซเดียม ไขมัน และอื่น ๆ ที่เกินกว่าความต้องการของสัตว์เลี้ยง เพราะฉะนั้นเราต้องใจแข็งเข้าไว้ สู้ ๆ นะทุกคน!
ระวังของกินต้องห้าม ถึงทุกคนจะไม่ให้อาหารมนุษย์ที่แสนอร่อยกับสัตว์เลี้ยงแล้ว อย่าลืมว่าของกินบางอย่าง แม้ไม่ได้ผ่านการปรุงรสหรืออะไรก็สามารถส่งผลเสียกับร่างกายของเจ้าน้องได้โดยไม่รู้ตัว โดยของกินที่ต้องห้ามเด็ดขาดสำหรับสัตว์เลี้ยง เช่น ช็อกโกแลต องุ่น กระดูกแหลม ๆ ผลิตภัณฑ์จากนมวัว เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
ระวังอาการแพ้ ในหลาย ๆ ครั้งเราอาจจะไม่มีทางรู้ได้ว่าสัตว์เลี้ยงของเรามีอาการแพ้อาหารอะไรบ้าง ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ของกินใหม่ ๆ อย่าลืมสังเกตอาการแพ้ เช่น มีอาการคันที่ท้อง รักแร้ ขาหนีบ รอบปาก จมูก ดวงตา อุ้งเท้า อาจมีภาวะหูอักเสบ หรืออาการในระบบทางเดินอาหารอย่างอาเจียนและท้องเสีย เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าว ต้องรีบพาเจ้าน้องไปหาคุณหมอโดยด่วนเลยนะ
เพราะอาหารเป็นส่วนที่สำคัญของทุกสิ่งมีชีวิต ทำให้เรามีชีวิตอยู่ได้และยังเสริมสร้างสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง หากได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างเหมาะสมควบคู่ไปกับการออกกำลังกายและการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ ก็ย่อมมีสุขภาพที่ดีทั้งการและใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน!
บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)
👩⚕️👨⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!
🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!
SUBSCRIBE &
STAY UPDATED
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies