คุณรู้จัก “พิษสุนัขบ้า” หนึ่งในโรคที่เก่าแก่ที่สุดในโลกดีแค่ไหน?

“พิษสุนัขบ้า” เป็นชื่อโรคที่เราทุกคนได้ยินและเรียนรู้เกี่ยวกับความร้ายแรงของมันมาตั้งแต่วิชาสุขศึกษาสมัยประถม แต่หากความน่ากลัวของโรคระบาดที่ทำให้สิ่งมีชีวิตเกิดอาการคุ้มคลั่งนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนรู้กันเป็นอย่างดี ทำไมการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้านั้นยังคงเป็นข่าวอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี

Photo credit: Thairath Online & INDEPENDENT

ตั้งแต่การระบาดในสัตว์ด้วยกันเอง และจากสัตว์สู่คนด้วยกัน แล้วเราจะสามารถปกป้องตัวเองและสัตว์เลี้ยงที่เรารักจากโรคนี้ได้อย่างไร มาหาคำตอบไปด้วยกัน

โรคพิษสุนัขบ้า

รักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้นะ!

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นหนึ่งในโรคที่เก่าแก่ที่สุดในโลก สามารถย้อนไปได้ไกลถึงยุคของอาณาจักรบาบิโลน (Babylonia) ตั้งแต่ 2,300 ปีก่อนคริสตศักราช โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC: Centers for Disease Control and Prevention) ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า โรคพิษสุนัขบ้านั้นเป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการกัดโดยสัตว์ที่ติดเชื้อ ไวรัสพิษสุนัขบ้าทำให้เกิดความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนนำไปสู่การเสียชีวิต

แม้จะเป็นโรคที่ป้องกันได้ แต่ในทุก ๆ ปียังคงมีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า โดยมักจะติดต่อมาจากสัตว์ป่าที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน เช่น ค้างคาว แรคคูน สุนัขจิ้งจอก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดสามารถติดเชื้อพิษสุนัขบ้าได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยกว่า 95% นั้นเกิดจากสุนัขที่ติดเชื้อ รองลงมาคือแมว

ความเข้าใจผิด ๆ ที่เกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า

  • โรคพิษสุนัขบ้าเกิดแค่ในหมาเท่านั้น: โรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด แมวเองก็สามารถเป็นพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกัน รวมถึงสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนมด้วย ที่ตั้งชื่อโรคว่า “พิษสุนัขบ้า” นั้น มาจากการที่พบโรคนี้เป็นครั้งแรกในสุนัขนั่นเอง
  • ต้องโดนกัดถึงจะเป็น: โรคพิษสุนัขบ้าสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสโดนเชื้อจากบาดแผล รอยกัด รอยข่วน รวมถึงการบริโภค ทางเยื่อเมือก และทางลมหายใจเมื่ออยู่ในที่ปิด ไม่มีอากาศถ่ายเท (เช่น การติดเชื้อจากค้างคาวเมื่ออยู่ในถ้ำ เป็นต้น)
  • เป็นแล้วจะกลัวน้ำ: แม้โรคกลัวน้ำจะเป็นอีกชื่อหนึ่งของโรคพิษสุนัขบ้า แต่สิ่งมีชีวิตที่ติดเชื้อไม่ได้ “กลัว” น้ำจริง ๆ อาการสำลักน้ำหรืออาหารเมื่อกินเข้าไปนั้นเป็นเพราะอาการอัมพาตที่กล้ามเนื้อคอ กล่องเสียง และหลอดอาหาร เมื่อมีอาการเหล่านี้จะเสียชีวิตในไม่กี่วันต่อมา

การติดต่อของโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้านั้นสามารถติดต่อในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จากสัตว์สู่คน และจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสน้ำลายของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies virus) โดยจะเข้าสู่ร่างกายจากรอยบาดแผลกัด ข่วน เลีย หรือทางเยื่อเมือก เช่น ช่องปาก ดวงตา หรือจมูก รวมถึงการบริโภคด้วยเช่นเดียวกัน

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้าจะมีระยะเวลาฟักตัวตั้งแต่ 1-3 เดือน โดยมีการแยกประเภทของอาการเมื่อเกิดการติดต่อในสัตว์ และระยะของอาการเมื่อเกิดการติดต่อในมนุษย์ดังต่อไปนี้

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์

อ้างอิงจากสำนักข่าว BBC NEWS ไทย และสภากาชาดไทย อาการของสัตว์ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้ามี 2 แบบ และมีอาการที่แตกต่างกันดังนี้

  • แบบดุร้าย สัตว์มีอาการหงุดหงิด ตื่นเต้น วิ่งพล่าน ไล่กัดคนและสัตว์ตัวอื่น โดยสุนัขจะแสดงอาการเช่นนี้ประมาณ 2-3 วัน หลังจากนั้นจะอ่อนเพลีย ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และเสียชีวิตในที่สุด
  • แบบเซื่องซึม สังเกตได้ยากกว่าเพราะสัตว์จะมีอาการเหมือนโรคอื่น ๆ เช่น ไข้หวัด หรือ โรคหัด โดยจะมีอาการลิ้นห้อย ปากอ้าหุบไม่ได้ ตัวแข็งเป็นอัมพาต บางตัวมีอาการชักและตายในที่สุด

อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในมนุษย์

เมื่อมนุษย์ถูกสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสกัดหรือข่วน เชื้อไวรัสจะเดินทางผ่านระบบประสาทเข้าสู่สมอง โดยจะเกิดอาการ 3 ระยะดังต่อไปนี้

ระยะที่ 1 มีไข้ต่ำ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กระสับกระส่าย

ระยะที่ 2 เริ่มมีอาการทางประสาท รู้สึกร้อนรน กระวนกระวาย กลัวแสง หนาวสั่น มีอาการเกร็งและกลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว ดื่มน้ำได้ยาก

ระยะที่ 3 เกร็ง หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก กล้ามเนื้อกระตุก แขนขาอ่อนแรง หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด

การป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า

แม้อาการของโรคพิษสุนัขบ้านั้นจะเป็นอันตรายและนำพาทุกชีวิตที่ติดเชื้อไปสู่ความตาย แต่ก็เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ทั้งในสัตว์เลี้ยงและมนุษย์โดยการฉีดวัคซีนป้องกัน

สำหรับสุนัขและแมว ได้มีกฎหมายกำหนดให้คุณพ่อคุณแม่ต้องพาสัตว์เลี้ยงทุกตัวไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าจากสัตวแพทย์โดยไม่มีข้อยกเว้น (อ้างอิงจาก แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้วัคซีนในสุนัขและแมว สมาคมสัตวแพทย์ผ้ประกอบการบําบัดโรคสัตว์เล็กโลก)

สุนัข: เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง จึงมีกำหนดให้วัคซีนเข็มแรกกับลูกสุนัขเมื่ออายุครบ 3 เดือน กระตุ้นซ้ำในสัปดาห์ที่ 2-4 สัปดาห์ และกระตุ้นซ้ำทุก 1 ปี

แมว: ให้วัคซีนลูกแมวครั้งแรกได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน และกระตุ้นซ้ำทุก 1 ปี

สำหรับคน สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นเดียวกัน โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท (อ้างอิงจากบทความ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์)

การฉีดป้องกันโรคขณะยังไม่ได้มีการสัมผัสกับสัตว์ (ยังไม่ถูกกัด): สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง (ผู้ที่ใกล้ชิดกับสัตว์) โดยจะฉีดทั้งหมด 3 เข็ม

    • เข็มที่ 1 ในวันที่ต้องการฉีด
    • เข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 7 วัน
    • เข็มที่ 3 หลังจากเข็มแรก 21-28 วัน

การฉีดป้องกันโรคหลังจากที่ได้มีการสัมผัสกับสัตว์ (ถูกกัดไปแล้ว): สำหรับผู้ที่ถูกสัตว์กัด ควรล้างแผลให้สะอาดและเข้ารับการฉีดวัคซีนจากแพทย์ทันที โดยมีวิธีการฉีดแบบเข้าใต้กล้ามเนื้อ และเข้าชั้นผิวหนัง

    • ฉีดเข้าใต้กล้ามเนื้อ
      • เข็มที่ 1 ในวันแรกที่มาโรงพยาบาล
      • เข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 3 วัน
      • เข็มที่ 3 หลังจากเข็มแรก 7 วัน
      • เข็มที่ 4 หลังจากเข็มแรก 14-28 วัน
    • ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง
      • เข็มที่ 1 ในวันแรกที่มาโรงพยาบาล
      • เข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 3 วัน
      • เข็มที่ 3 หลังจากเข็มแรก 7 วัน
  • อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าในมนุษย์ได้ที่ วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดย โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ข้อควรปฏิบัติเมื่อเจอสัตว์ที่เป็นพิษสุนัขบ้า

หากพบเห็นสัตว์ที่มีอาการของโรคพิษสุนัขบ้าข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นสุนัข แมว หรือสัตว์อื่น ๆ ที่มีอาการหงุดหงิดผิดปกติ ไล่กัดหรือทำร้ายคนและสัตว์อื่น ๆ สิ่งที่ควรทำคือการโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ให้มาจับตัวไป ห้ามลงมือจับด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือเกิดการบาดเจ็บได้

แม้โรคพิษสุนัขบ้าจะคงอยู่มาเนิ่นนานตั้งแต่สมัยอาณาจักรบาบิโลน แต่ในปัจจุบันก็ยังคงไม่มีวิธีการรักษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการหลังจากระยะแรก สิ่งที่พวกเราทุกคนในฐานะคุณพ่อคุณแม่สัตว์เลี้ยงสามารถทำได้ในการปกป้องสัตว์เลี้ยงของตนเองและผู้อื่นนั้นคือการพาเจ้าน้องของเราไปรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าตามเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

บทความแนะนำสำหรับคุณ

บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!