Meet MyFriends! Soi Dog Foundation

การตัดสินใจรับเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสักหนึ่งตัวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะหากสัตว์เลี้ยงตัวนั้นไม่ได้เป็นน้องหมาแมวสายพันธุ์แท้ยอดนิยม แต่เป็นสุนัขหรือแมวที่ผ่านร้อนหนาวลมฝนมาอย่างที่สุดเกินกว่ามนุษย์อย่างเรา ๆ จะล่วงรู้ได้ อาจมีเชื้อสายพันธุ์มากมายปะปนกันเกินกว่าที่จะดูออก ด้วยลักษณะที่ไม่ชัดเจนนี้เอง ทำให้ใครหลาย ๆ คนมองข้ามน้องหมาแมวจรที่อยู่ตามถนนหรือที่อยู่ตามศูนย์ดูแลสัตว์เลี้ยงไป แม้น้อง ๆ จะต้องการความรักและบ้านที่แสนอบอุ่นไม่แพ้กับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็ตาม

Soi Dog Foundation มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย หรือ มูลนิธิซอยด็อก เป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2003 เพื่อแก้ไขปัญหาประชากรสัตว์จรล้นเกาะภูเก็ตด้วยวิธิที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืน รวมทั้งจัดหาการรักษาพยาบาลให้กับเหล่าสัตว์เลี้ยง จนในปัจจุบันนี้ได้ขยายการทำงานไปทั่วทวีปเอเชีย และยินดีเปิดให้คนรักสัตว์ทั่วโลกสามารถรับเลี้ยงสัตว์จากมูลนิธิ

โดยในวันนี้ MyFriend ขอพาเพื่อน ๆ มาทำความรู้จักกับมูลนิธิซอยด็อกให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องของจุดเริ่มต้นของมูลนิธิ ความสำคัญของการรับเลี้ยงสัตว์ ขั้นตอนการรับเลี้ยง และเรื่องราวดี ๆ อีกมากมาย กับคุณอุ้ม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์และการตลาดของมูลนิธิซอยด็อกที่แวะมาคุยกับเราจากทางไกลอย่างจังหวัดภูเก็ต บ้านเกิดของมูลนิธิซอยด็อก! 🐶🐱🧡

หมายเหตุ: บทสัมภาษณ์นี้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2022

แนะนำตัว

สวัสดีค่ะ อุ้มนะคะ เป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธีเพื่อสุนัขในซอย หรือว่า Soi Dog Foundation ค่ะ

จุดเริ่มต้นของมูลนิธิ Soi Dog

มูลนิธิของเราก็คือจะมีจุดเริ่มต้นมาจากชาวต่างชาติ 3 ท่านค่ะ ก็คือจะมีคู่สามีภรรยา ชื่อคุณจิลแล้วก็คุณจอห์น ดัลลี่ย์นะคะ ทั้งสองท่านนี้จะเป็นชาวอังกฤษที่เกษียณอายุงานจากประเทศอังกฤษค่ะ แล้วเขาก็เคยมาเที่ยวที่ภูเก็ตเมื่อหลายปีมาก่อน ที่นี้พอเขาเกษียณปุ๊บ เขาก็เลยรู้สึกว่าอยากจะมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่จังหวัดภูเก็ต ก็เลยเดินทางมาถึง แล้วทีนี้พอเขามาถึงแล้วใช้เวลารอบ ๆ เกาะเลยได้สังเกตว่ามันมีน้องหมาจรจัด ในเวลานั้น เมื่อ 20 ปีที่แล้วนะคะ (มีหมาจรจัด)เยอะมาก แล้วสภาพน้อง ๆ ที่เห็นเนี่ยก็คือ ป่วย เป็นโรคผิวหนัง ผอม แล้วก็มีสภาพที่น่าสงสาร น่าเวทนาค่ะ ทั้งสองคนเป็นคนรักสัตว์อยู่แล้ว ก็เลยมีความรู้สึกว่าอยากช่วยเหลือน้อง ๆ เหล่านี้ อยากให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นค่ะ

ก็เลยได้มารู้จักกับชาวต่างชาติอีกท่านนึง เป็นชาวดัตช์นะคะ ชื่อคุณมาร์โก้ ฮอมเบิร์ก ซึ่งคุณมาร์โก้ ฮอมเบิร์กก็จะเหมือนเป็นคนที่ช่วยเหลือน้องหมาน้องแมวในพื้นที่อยู่แล้ว ทั้งสามท่านก็เลยได้มาพูดคุยกัน แล้วก็พอมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันค่ะ ก็เลยเริ่มจากการที่มารวมกลุ่มกันแล้วก็ช่วยเหลือน้องหมา

ในระยะแรกก็จะเป็นการเหมือนอาสาในกลุ่มเล็ก ๆ ที่ช่วยกันว่า ถ้าเห็นน้องหมาป่วยก็พาส่งรักษา พาไปทำแผล หรือว่าช่วยชีวิตฉุกเฉินถ้าเห็นน้องหมาโดนรถชนอะไรประมาณนี้ค่ะ แต่ว่าทีนี้พอช่วยไปช่วยมาได้สักพักหนึ่งคือเหมือนช่วยเท่าไหร่มันก็ช่วยไม่หมดสักทีอย่างนี้ค่ะ เขาก็เลยมาตกผลึกความคิดว่า อ๋อ มันมาจากการที่มีน้องหมาในพื้นที่มากเกินไป แล้วก็ไม่มีการควบคุม งั้นเราต้องมาทำหมันให้กับน้อง ๆ เหล่านี้ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่า ซอยด็อกให้ความสำคัญกับการทำหมันแล้วก็ฉีดวัคซีนมาตั้งแต่ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสามท่านนี้เลยค่ะ

ทีนี้ในการช่วยเหลือก็เลยเปลี่ยนรูปแบบจากแค่การพาน้องไปหาหมอเป็นการเริ่มมีอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือในการจับน้อง ๆ เหล่านี้มาทำหมัน ฉีดวัคซีน แล้วก็พาน้อง ๆ กลับไปส่งที่จุดเดิม เพื่อให้เขาใช้ชีวิตในบ้าน ในถิ่นที่อยู่ของเขาค่ะ

แล้วก็จุดเปลี่ยนของซอยด็อกเลยเนี่ย ก็คือจะเป็นช่วงปี 2547 ที่มีสินามิค่ะ แน่นอนว่าคนได้รับผลกระทบเยอะมาก มีผู้ที่เสียชีวิต มีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ มีผู้คนที่สูญหาย แต่ว่าทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็รวมไปถึงสัตว์ในพื้นที่ด้วยที่ได้รับผลกระทบค่ะ

ในขณะที่มีหน่วยงานจากทั่วโลกเข้ามาช่วยเหลือในกลุ่มของผู้คน ทางผู้ก่อตั้งทั้งสามท่านก็หาอาสาสมัครจากทั่วโลกที่เข้ามาเพื่อช่วยเหลือน้องหมาที่ได้รับผลกระทบจากสินามิด้วย ฉะนั้นตอนนั้นก็มีสัตวแพทย์ที่มาจากต่างประเทศ หรือว่าเป็นกลุ่มคนรักสัตว์ที่เขาก็เข้ามาร่วมมือกับเราในการช่วยเหลือน้องหมาจากเหตุการณ์สินามิค่ะ มันก็เลยทำให้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นว่ามีกลุ่มคนที่ช่วยเหลือสัตว์ ช่วยเหลือสุนัขอยู่ในจังหวัดภูเก็ตนะ

หลังจากนั้นก็เหมือนความช่วยเหลือมันก็เลยหลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ มีอาสาที่เขาเดินทางเข้ามาเพื่อร่วมมือกับผู้ก่อตั้งทั้งสามท่าน จากนั้นมันก็เลยได้เริ่มก่อร่างเป็นมูลนิธิค่ะ ซึ่งก็มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แล้วจากนั้นก็เริ่มมีการมองหาพื้นที่ปฏิบัติงานในการช่วยเหลือน้องหมาน้องแมว เพราะว่าในระยะแรกเหมือนเราก็ช่วยในการพาน้อง ๆ ส่งรักษาคลินิกสัตวแพทย์เอกชนที่อยู่ในเกาะภูเก็ตค่ะ แต่ว่าหลังจากนั้นก็เริ่มขยับขยายว่า เออ ซอยด็อกก็น่าจะต้องมีสัตวแพทย์เป็นของตัวเองนะ น่าจะต้องมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยสัตว์ที่คอยไปจับน้องหมา ไปช่วยเหลือน้องหมาบนท้องถนนของตัวเอง มันก็เลยเริ่มเติบโตขึ้นมาเรื่อย ๆ ค่ะ

ซอยด็อกทำอะไรบ้าง

เราจะมีตั้งแต่การช่วยเหลือน้องจากท้องถนนหรือว่าน้องที่โดนทำร้ายจากเหตุทารุณกรรมค่ะ ตั้งแต่แรกเลย พาเขามาส่งรักษา หลังจากการรักษาทางด้านร่างกาย พอน้องแข็งแรงปุ๊บ เราก็มีทีมปรับพฤติกรรมสัตว์ที่ช่วยดูแลน้องในเรื่องของจิตใจ อย่างเช่นน้องที่อาจจะโดนคนทำร้าย พอหลังจากที่น้อง ๆ ได้รับการปรับพฤติกรรม น้องมีจิตใจที่ดีขึ้น สามารถเข้ากับคนได้อีกครั้ง สามารถไว้ใจคนได้อีกครั้งนึง จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการหาบ้านใหม่

ในแต่ละปีมีเคสเยอะขนาดไหน?

เฉพาะปีนี้ค่ะ ปี 2565 (2022) ก็คือจะรวมทั้งศูนย์พักพิงที่จังหวัดภูเก็ตแล้วก็หน่วยทำหมันเคลื่อนที่ของเราในพื้นที่ภาคใต้ แล้วก็กรุงเทพและปริมณฑล จะอยู่ที่ 6,000 เคส เฉพาะของปีนี้ (2022) นะคะ

การรักษาจะเพิ่มขึ้นในแต่ละปี อย่างเช่นอุ้มไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของปีที่แล้วก็คือจะมีเคสการรักษาอยู่ที่ประมาณห้าพัน แล้วถ้าเรามองย้อนไปปีก่อนหน้านี้มันก็จะลดหลั่นลงไปเรื่อย ๆ ปีละสี่พัน สามพัน อุ้มก็มองว่าจากตัวเลขการรักษาที่มันเพิ่มขึ้นเข้ามานี้ค่ะ มันก็จะมีสองปัจจัยหลัก ๆ นะคะ

อย่างแรกก็คือ มูลนิธิมีการขยายพื้นที่การทำงานเพิ่มมากขึ้น จากที่ตอนแรกสุดเลยที่เราเริ่มก่อตั้ง เราอยู่แค่ในภูเก็ต เราก็เริ่มมีการขยายออกไปเรื่อย ๆ จนไปถึงกรุงเทพและปริมณฑล แล้วก็เราก็มีการขยายหน่วยทำหมันเคลื่อนที่ไปยังจังหวัดใหม่ ๆ เพิ่มทุกปีค่ะ มันก็เลยทำให้เจ้าหน้าที่ได้มีโอกาสเข้าถึงแล้วก็สามารถช่วยเหลือน้องหมาน้องแมวที่ต้องการความช่วยเหลือได้มากขึ้น

อย่างที่สองก็คือเราก็รู้สึกว่าประชาชนหรือว่าผู้คนที่เขาอยู่ในพื้นที่ เขาเริ่มรู้สึกว่าสุนัขและแมวในชุมชนเป็นความรับผิดชอบของเขาเหมือนกัน ช่วงหลัง ๆ มานี้เราจะรู้สึกว่ามีประชาชน มีชาวบ้านที่เขาโทรศัพท์แจ้งเข้ามาส่งเคสเข้ามา ทั้งทางเฟซบุ๊คเองหรือว่าทางโทรศัพท์เพื่อบอกว่ามีหมาแมวที่ต้องการความช่วยเหลือนะ มันก็บ่งบอกว่าคนในชุมชนให้ความสำคัญกับสุนัขและแมวที่อยู่ในพื้นที่มากขึ้นด้วยค่ะ

ความสำคัญของการรับอุปการะสัตว์เลี้ยง

ถ้าสำหรับการดำเนินงานศูนย์พักพิงสัตว์ โครงการหาบ้านเป็นสิ่งที่สำคัญแทบจะเรียกได้ว่าสำคัญที่สุดเลยค่ะ เพราะว่าถ้าเราไม่สามารถหาบ้านให้กับน้อง ๆ ที่เขาอยู่ในศูนย์พักพิง ก็เท่ากับว่ามันจะไม่มีการระบายจำนวนสัตว์ออกเลย เราก็อาจจะไม่สามารถรับสัตว์ตัวใหม่ ๆ ที่เขาต้องการความช่วยเหลือเข้ามาในศูนย์พักพิงได้ คือถ้าตัวเก่าไม่ไป ตัวใหม่ก็ไม่มาค่ะ

อย่างที่สองก็คือ ด้วยความที่มูลธินิเรามีพันธกิจในการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์จรจัด ก็คือเราอยากให้น้อง ๆ ที่อยู่ข้างถนนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การที่น้อง ๆ ได้บ้านใหม่ มีความปลอดภัย ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกรถชน ไม่ต้องเสี่ยงกับการถูกทำร้าย ได้กินอิ่ม นอนอุ่นในทุก ๆ วัน อันนี้ก็คือเป็นเป้าหมายหลักของมูลนิธิเลย ก็เลยมีความสำคัญกับพวกเราที่มูลนิธิซอยด็อกมาก ๆ ค่ะ

การรับเลี้ยงมันเป็นการช่วยลดหรือว่าช่วยทำให้ธุรกิจเพาะฟาร์มสุนัขหรือว่าฟาร์มแมวที่อาจจะไม่ถูกกฎหมาย หรือว่าไม่ได้ดูแลน้อง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี ให้ฟาร์มให้ธุรกิจเหล่านี้มันลดลงด้วย

การขออุปการะสัตว์เลี้ยงจากในและนอกประเทศ

การรับเลี้ยงจากซอยด็อก ไม่ต้องกังวลเลยว่าเราจะไม่รู้ทำยังไงกับน้องดี เราไม่กล้าคุยกับเจ้าหน้าที่ กลัวถูกว่า หรือว่ากลัวจะแบบมีปัญหาอะไรมั้ย อันนี้คือไม่มีเลย สบาย ๆ ยินดีให้คำแนะนำตลอดเลย ตลอดเวลาที่รับเลี้ยงเลยค่ะ จะมีทั้งคนที่เขาเข้ามาที่ศูนย์พักพิงเพื่อมาดูตัวน้องหมาน้องแมวว่าอยากรับเลี้ยงตัวนั้นตัวนี้ แล้วก็จะมีอีกส่วนหนึ่งก็คือ คนที่ติดตามเราทางโซเชียลมีเดีย ทางเฟซบุ๊ค ทางไอจี เราจะมีโพสหาบ้านให้น้องหมาน้องแมวในทุกวันนะคะ สามารถติดต่อ ทักเข้ามาพูดคุยกับทีมหาบ้านได้เลยค่ะ

ถ้ารับเลี้ยงน้อง ๆ จากต่างประเทศสามารถทำได้ค่ะ เราก็จะมีข้อมูลในเว็บไซต์นะคะ สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ soidog.org ค่ะ โดยที่ทางทีมหาบ้านของเราก็ยินดีให้คำปรึกษาตั้งแต่แรกจนถึงน้องเดินทางไป จนน้องใช้ชีวิตอยู่ที่นู่นโดยที่ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายนะคะ

สำหรับการรับเลี้ยงน้อง ๆ ที่อยู่ต่างประเทศค่ะ น้อง ๆ ก็จะเดินทางไปกับเครื่องบินโดยไปกับอาสาสมัคร พาน้องหมาน้องแมวบิน หรือว่า Flight Volunteer นะคะ คนที่รับเลี้ยงน้องที่เป็นเจ้าของใหม่ก็สามารถรอรับน้องได้ที่สนามบินปลายทางเลย โดยที่ซอยด็อกจะจัดการให้พวกเรื่อง เอกสาร วัคซีน ทำหมัน หรือว่าการตรวจสุขภาพทุกอย่าง เราดูแลให้หมดเลยค่ะ

ช่วงหลัง ๆ มานี้เราพยายามจะโปรโมทให้ชาวต่างชาติที่พักอาศัยอยู่ในเมืองไทย ให้เขารับเลี้ยงน้องหมาจากซอยด็อกด้วย ซึ่งกระบวนการในการรับเลี้ยงทุกอย่าง ก็จะเหมือนคนไทยทุกอย่างเลย ถ้าอย่างในกรณีที่เขามีความจำเป็นต้องเดินทางกลับต่างประเทศอ่ะค่ะ เราก็ให้ความช่วยเหลือเช่นกัน ซึ่งก็จะมีทั้งเจ้าของที่เขาจะจัดการเรื่องค่าใช้จ่ายทุกอย่างเอง แต่อาจจะรบกวนให้ทางซอยด็อกเป็นคนดำเนินการให้ หรืออีกส่วนนึงก็คือ เราก็จะส่งน้อง ๆ ไป เหมือนน้องหมาน้องแมวที่ไปหาบ้าน ก็คือไปกับ Flight Volunteer แต่มันก็จะมีบางกรณีที่ คนที่รับเลี้ยงเขาอาจจะอยู่ในประเทศที่เราไม่สามารถส่งน้องหมาน้องแมวเข้าไปได้ หรือเขาอาจจะเลี้ยงเป็นน้องหมาบางกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางขึ้นเครื่องบินได้ค่ะ เช่น น้องหมาที่โพรงจมูกน้องสั้น ที่เดินทางไม่ได้ อันนี้จริง ๆ เราก็ยินดีที่จะหาทางแก้ปัญหาร่วมกันนะคะ น้องก็อาจจะต้องมีการหาบ้านใหม่ให้ เป็นการ Rehome น้องค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็พยายามจะย้ำตลอดว่าเราช่วยเหลือแน่ ๆ เราให้คำแนะนำ และเรายินดีอยู่กับคุณจนคุณสามารถแก้ปัญหาได้นะ อย่าตัดสินใจทิ้งน้อง ๆ นะ

ช่องทางสนับสนุนมูลนิธิซอยด็อก

หลัก ๆ เลยสำหรับคนที่ต้องการสนับสนุนงานของเรานะคะ สามารถมาเป็นอาสาสมัครเพื่อจูงน้องหมาได้ที่ศูนย์พักพิงที่ภูเก็ต ที่เรานั่งคุยกันอยู่ แล้วจะเห็นว่ามีคนที่เดินจูงน้องหมา เดินผ่านด้านหลังนะคะ ก็คือน้องหมาทุกตัวที่จะหาบ้าน เราจำเป็นที่จะต้องให้น้องคุ้นชินกับการเดินกับสายจูง เพราะถ้าเป็นน้องหมาที่ได้บ้านในต่างประเทศ กฎหมายในทุกประเทศเลยก็คือ ถ้าพาหมาออกนอกบ้าน คุณต้องใช้สายจูง รวมถึงคนไทยเอง เราก็จะรณรงค์แล้วก็พยายามบอกให้ผู้รับเลี้ยงว่าถ้าพาน้องออกไปนอกบ้านเนี่ย ต้องใส่สายจูงให้น้องด้วยนะ อีกอย่างนึงก็คือ น้อง ๆ ด้วยความที่เขาเป็นสัตว์จรจัด อยู่ข้างถนนมาก่อน เขาจะไม่ได้คุ้นชินกับคน ฉะนั้นการที่มีอาสาสมัครเข้ามาทำงานตรงนี้ เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ มาเล่น มาเดิน ให้น้องคุ้นชินกับคนค่ะ อีกอย่างนึงก็คือ ทำให้น้อง ๆ ได้ออกกำลังกายขาด้วยค่ะ ทำให้หัวใจแข็งแรง เลือดสูบฉีดดีขึ้น จากการเดินรอบ ๆ ศูนย์พักพิง

แล้วก็อีกส่วนนึงก็คือสามารถสนับสนุนเราได้ด้วยการรับเลี้ยงน้องหมาน้องแมวจากซอยด็อกนะคะ ซึ่งทีมงานยินดีให้คำปรึกษา แล้วก็ในหลาย ๆ พื้นที่ค่ะ เราก็มีบริการส่งน้อง ๆ ถึงบ้านใหม่ด้วย ซึ่งไม่ว่าคุณจะอยู่ในพื้นที่ไหนก็สามารถที่จะสอบถาม แล้วก็ขอคำแนะนำกับเราได้เลยค่ะ

สิ่งที่อยากฝากกับผู้ฟัง

ส่วนอีกอย่างนึงที่สามารถช่วยงานของซอยด็อกได้นะคะ ก็คืออยากให้คอนเซ็ปต์หรือว่าวิธีคิดของมูลนิธิมันกระจายต่อในวงกว้างมากขึ้น อย่างเช่น เรื่องของการทำหมันและฉีดวัคซีนอย่างนี้ค่ะ เป็นเรื่องจำเป็นมาก สำหรับทั้งกับสัตว์จรจัดและสัตว์เลี้ยง หรือว่าการเลือกที่จะรับเลี้ยงน้อง ๆ แทนการซื้อน้อง ๆ จากฟาร์มอย่างค่ะ ก็เป็นอีกส่วนนึงที่ ถ้ามันมีคนที่เข้าใจเรื่องพวกนี้มากยิ่งขึ้น มันก็จะทำให้พันธกิจที่เราต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์จรจัดมันสามารถไปได้เร็วมากยิ่งขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

MyFriend ขอขอบคุณคุณอุ้ม และทาง Soi Dog Foundation มูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย หรือ มูลนิธิซอยด็อก ที่ยินดีให้พวกเราเข้าสัมภาษณ์ พร้อมแบ่งปันเรื่องราวที่ดูเหมือนจะไกลตัวจากมนุษย์ แต่ที่จริงแล้วก็อยู่ใกล้หัวใจของเหล่าคนรักสัตว์เลี้ยงของพวกเราแค่หน้าปากซอยนี้เอง! 🐶🐱

หากเพื่อน ๆ คนไหนสนใจรับอุปการะสัตว์เลี้ยง หรือมีเพื่อนชาวต่างชาติที่อยากพาน้องบินไปอยู่ด้วย อย่าลืมส่งบทสัมภาษณ์นี้ไปไว้ให้พิจารณา และมาดูข้อมูลเพิ่มเติมจากทางมูลนิธิซอยด็อกได้ที่ www.soidog.org หรือถ้ามีวางแผนทริปไปเที่ยวภูเก็ต อยากหาอะไรทำกับเจ้าน้องหมาก็ติดต่อไปอาสาจูงเจ้าน้องเดินที่ศูนย์พักพิงของมูลนิธิซอยด็อกได้เช่นเดียวกันนะ!

สัปดาห์หน้า MyFriend จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่คนไหน อย่าลืมมาติดตามกัน!


💙 Meet MyFriends! พาทุกคนไปทำความรู้จักเพื่อนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่ เจ้าของธุรกิจสัตว์เลี้ยง และผู้เชี่ยวชาญอีกมากมายที่พร้อมมาแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ให้กับชาวเพ็ทเลิฟเวอร์แบบหมดเปลือก!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!