เมื่อเวลาที่ใช้ร่วมกันผ่านไปหลายปี คุณพ่อคุณแม่อาจจะคุ้นเคยกับความสดใสหรือความกระฉับกระเฉงในชีวิตที่มีสัตว์เลี้ยงอยู่เสมอ แต่ในวันหนึ่งที่น้อง ๆ เริ่มแก่ตัวลง การมองหาสัญญาณที่บ่งบอกถึงช่วงวัยที่เปลี่ยนไป จะช่วยให้เราป้องกันและรักษาโรคที่มากับอายุได้ โดยการพาน้อง ๆ ไปหาคุณหมอแต่เนิ่น ๆ
วัยทองหรือวัยสูงอายุของสัตว์เลี้ยงนั้น จะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์และขนาดตัว โดยปกติแล้วแมวจะเข้าสู่วัยทองตอนอายุประมาณ 8-10 ปี สุนัขพันธุ์เล็ก (น้ำหนักประมาณ 1-15 กิโลกรัม) ถึงกลาง (น้ำหนักประมาณ 16-30 กิโลกรัม) จะเข้าสู่วัยทองตอนอายุ 7-10 ปี ส่วนสุนัขพันธุ์ใหญ่ (น้ำหนักประมาณ 25-40 กิโลกรัม) ถึงใหญ่มาก (น้ำหนักประมาณ 35-55 กิโลกรัมขึ้นไป) จะเข้าสู่วัยทองตั้งแต่อายุ 6 ปี
มักเกิดจากการปวดเมื่อยที่ทำให้ขยับตัวลำบาก อาจจะเป็นการลุกจากที่นอนอย่างเชื่องช้าหรือไม่เล่นสนุกอย่างเคย ๆ โดยอาการเหล่านี้อาจมาจากโรคข้อกระดูกเสื่อมซึ่งพบบ่อยมากทั้งในสุนัขและแมวที่อายุมาก แม้จะเป็นเรื่องปกติสำหรับสัตว์เลี้ยงที่ก้าวเข้าสู่วัยทอง คุณพ่อคุณแม่ควรพาน้อง ๆ ไปหาหมอเพื่อขอคำปรึกษาและรับยาบรรเทาความเจ็บปวด และอาจจะมองหาที่นอนเพื่อสุขภาพสำหรับบรรเทาอาการปวดด้วยก็ดีนะ
เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น ร่างกายของน้อง ๆ อาจจะเผาผลาญได้น้อยลง รวมถึงไม่กระฉับกระเฉงเหมือนเดิม ทำให้มีน้ำหนักตัวมากขึ้น หรือในบางตัวอาจจะมีความอยากอาหารน้อยลง ไม่ค่อยกินอาหาร ทำให้น้ำหนักลดลงได้เช่นเดียวกัน หากเจ้าเพื่อนตัวน้อยของทุกคนมีน้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภายในระยะไม่กี่เดือน หรือภายในหนึ่งปี ให้รีบพาน้องไปหาคุณหมอ เพราะถึงแม้จะไม่ได้เป็นเพราะแก่ตัวลง แต่ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้อีกมากมาย
สัญญาณแรกของโรคในช่องปากและฟันของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงคือกลิ่นลมหายใจที่แรงกว่าปกติ น้อง ๆ อาจมีโรคเหงือก หินปูน ฟันผุ หรือแม้กระทั่งอาการติดเชื้อ ซึ่งสามารถทำให้เจ็บปวดมาก ๆ แต่มนุษย์ไม่รู้ อีกทั้งยังนำไปสู่ปัญหาหัวใจและไตได้ถ้าไม่ได้ตรวจดูอย่างสม่ำเสมอ คุณพ่อคุณแม่ควรพาสัตว์เลี้ยงไปตรวจและทำความสะอาดปากและฟันกับคุณหมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ควบคู่ไปกับการทำความสะอาดที่บ้านตั้งแต่ยังเด็กก็จะช่วยได้ ไม่ต้องรอจนสูงวัยก็เริ่มดูแลได้เลยนะ!
เมื่อสัตว์เลี้ยงอายุมากขึ้น สายตาก็อาจจะเริ่มมีปัญหา โดยอาการที่พบได้บ่อยคือตาขุ่นมัว ทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ชัดเจน จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากลักษณะของดวงตาที่จะเปลี่ยนไปทีละนิด หรือจากการที่น้อง ๆ ไม่สามารถหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้ตามปกติ หรือแม้กระทั่งก้มหยิบของเล่นชิ้นโปรดได้ไม่ถูกที่นั่นเอง
สัตว์เลี้ยงอาจไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายของตัวเองได้ และจัดการขับถ่ายตรงกลางบ้านโดยที่ไม่รู้ตัว อาจมีการปัสสาวะหยดเป็นทางหรือขับถ่ายขณะหลับ เป็นสัญญาณที่บอกได้ว่าน้อง ๆ อาจมีปัญหาติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะหรือโรคไต ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติในสัตว์เลี้ยงสูงวัยและสามารถรักษาให้หายได้ แต่อาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของน้อง ๆ และปัญหาเรื่องสุขอนามัยที่อาจเกิดขึ้น ควรปรึกษาสัตวแพทย์และเข้ารับการรักษา หรือเรียนรู้วิธีปฏิบัติที่เหมาะสม
สภาพจิตใจของสัตว์เลี้ยงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุอาจจะเปลี่ยนแปลงไป ด้วยความเจ็บป่วยของร่างกาย อาจทำให้น้อง ๆ รู้สึกฉุนเฉียวหรือเศร้าซึมกว่าปกติ นอกจากนี้ยังอาจจะเป็นอาการของโรคสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยง (CDS: Cognitive Dysfunction Syndrome) ซึ่งพบได้บ่อยในสุนัขมากกว่าแมว มีอาการคล้ายกับอัลไซเมอร์ คือน้อง ๆ จะเริ่มจำสิ่งที่คุ้นเคยไม่ได้และมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยโรคสมองเสื่อมในสัตว์เลี้ยงนี้ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และต้องพาไปให้คุณหมอวิเคราะห์อาการด้วยนะ
การเข้าสู่วัยชรานั้นเป็นเรื่องปกติของชีวิต น้อง ๆ อาจจะไม่ได้สดใสเท่าตอนเด็ก ๆ และมีอาการหลายอย่างที่น่าเป็นห่วง ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจให้มาก พาน้อง ๆ ไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ และกินอาหารที่ดี เพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขไปนาน ๆ นะ 🐾
บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)
👩⚕️👨⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!
🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!
SUBSCRIBE &
STAY UPDATED
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies