พิธีขอฝน เป็นพิธีที่มีอยู่ในหลากหลายวัฒนธรรม มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อขอให้ฝนตกลงมา โดยเฉพาะในสังคมที่เน้นทำการเกษตร สายน้ำที่ร่วงหล่นลงมาจากท้องฟ้าหน้าฝนนั้นเป็นส่วนสำคัญของการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรชาวไทยจึงเชื่อว่าหยาดฝนที่โปรยปรายนั้นเป็นพรจากเทวดาบนฟ้า เมื่อถึงเวลาที่พื้นดินแห้งแล้ง ความวิตกกังวลก็เริ่มกัดกินในใจ เมื่อไม่มีน้ำฝน พืชพรรณก็ไม่งอกเงย พื้นดินแตกระแหง เหลือแต่เพียงชาวนาชาวไร่ที่แทบจะหมดความหวัง
ในประเทศไทย พิธีขอฝนนี้เรียกว่า “แห่นางแมว” ที่ถึงแม้ชื่อจะฟังดูไม่ได้มีอะไรน่ากลัว แต่พิธีกรรมนี้ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตามมาด้วยคำถามมากมาย
คนไทยสมัยโบราณเชื่อกันว่า แมวเป็นสัตว์วิเศษที่มีพลังเหนือธรรมชาติ อานุภาพศักดิ์สิทธิ์ที่มาพร้อมกับความสามารถในการร้องเรียกขอฝน เพราะผู้คนในอดีตเชื่อว่าแมวไม่ชอบน้ำ เมื่อไหร่ที่ฝนตก น้องแมวก็จะร้องออกมา เสียงคร่ำครวญเหล่านี้จะดังขึ้นไปถึงสวรรค์ และเทวดาบนนั้นก็จะบันดาลสายฝนลงมา
ส่วนที่อาจจะรบกวนจิตใจของคนรักสัตว์เลี้ยงมากที่สุดคือการทำพิธีเมื่อไม่มีฝนตกลงมาให้เจ้าแมวร้อง พิธีแห่นางแมวจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อเหล่าชาวนาชาวไร่นั้นจับแมวตัวเมีย หนึ่งถึงสามตัว ใส่ไว้ในกรงหรือตะกร้าที่มีไม้คานสำหรับยกขึ้น มีการร้องรำทำเพลงโดยคนที่มาร่วมพิธี แห่ไปตามแต่ละบ้านในพื้นที่ โดยทุกบ้านจะต้องให้สิ่งแลกเปลี่ยน เช่น เหล้า ข้าว ไข่ ขนม หรือเงิน และสาดน้ำใส่ตะกร้าหรือกรงแมว หากบ้านไหนไม่ทำตามก็เชื่อกันว่าจะมีเคราะห์เกิดขึ้นกับครอบครัว โดยพิธีนั้นจะดำเนินไปตลอดทั้งวัน หากยังไม่มีฝนก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีฝนโปรยลงมานั่นเอง
ในประเทศไทยนั้นมีการให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการทารุณกรรมสัตว์นั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในมาตราที่ 20 ในพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
อ้างอิงจากพ.ร.บ.ดังกล่าว “การทารุณกรรม” หมายถึง “การกระทำหรืองดเว้นการกระทำใด ๆ ที่ทำให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมาน ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ได้รับความเจ็บปวด ความเจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรืออาจมีผลทำให้สัตว์นั้นตาย…”
โดยคำว่า “สัตว์” นั้น หมายถึง สัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม แสดงว่าแม้แต่เพื่อนจรจัดของพวกเราก็ได้รับการคุ้มครองโดยพ.ร.บ.นี้เช่นเดียวกัน!
จากในอดีตที่มีเพื่อนแมวมากมายต้องเจ็บปวดจากประเพณีนี้ และต้องกลับดาวแมวไปมากมาย ด้วยข้อกฎหมายที่เคร่งครัดและจริงจังมากยิ่งขึ้น ทำให้พิธีแห่นางแมวนั้นมีน้อยลงเรื่อย ๆ
โชคดีที่คนไทยนั้นมีความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้ชาติใดในโลก จากพิธีกรรมดั้งเดิมที่ใช้แมวจริง ๆ ในการแห่ก็มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นตุ๊กตาหมีน้อยและตุ๊กตาคาแรคเตอร์แมวชื่อดัง หรือแม้กระทั่งรูปปั้นดินเผารูปแมว เพื่อให้ประเพณีดำเนินต่อไปได้นั่นเอง
Photo credits: Khaosod, Post Today, และ MGR Online 🙏
จุดประสงค์ของพิธีแห่นางแมวนั้น มีขึ้นเพื่อความสามาคคีของชาวเกษตรกรในชุมชนที่เข้ามารวมตัวกันทำกิจกรรมในทุก ๆ ปี พวกเราเชื่อว่าวัฒนธรรมและประเพณีที่ดีงามเช่นนี้นั้นเป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ไว้ แต่หากสิ่งนั้นส่งผลร้ายต่อเพื่อนร่วมโลก การปรับเปลี่ยนให้ประเพณีนั้น ๆ ดีขึ้นตามสภาพสังคมโลกที่ก้าวหน้าไปทุกวัน จึงจะเป็นหนทางที่จะรักษาประเพณีนั้นไว้ได้อย่างยั่งยืนต่อไปตราบนานเท่านาน
📰 MyFriend’s Paw report ข่าวสารและเทรนด์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงที่จริงจัง จริงใจ และให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา เพื่อคุณพ่อคุณแม่น้อง ๆ รู้เท่าทันสิ่งใหม่ในวงการสัตว์เลี้ยงแบบรอบด้าน!
🐶🐱MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!
SUBSCRIBE &
STAY UPDATED
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies
© 2023 MyFriend by Thai Innovative Technologies