โรคของสัตว์เลี้ยงที่พบได้บ่อยในฤดูฝน

ฤดูฝนในประเทศไทยเรานี้กินเวลาถึง 5 เดือนใน 1 ปีเลยนะ ระยะเวลานานขนาดนี้แค่พกร่มหรือเสื้อกันฝนคงไม่พอสำหรับการดูแลน้องหมาน้องแมว เพราะสิ่งที่มาคู่กับฤดูฝนคือความเปียกชื้นที่อาจพาสารพัดโรคมาสู่เจ้าน้องที่เรารักได้

เราขอพาคุณพ่อคุณแม่มาทำความรู้จักกับ 5 โรคของสัตว์เลี้ยงที่พบบ่อยในหน้าฝน พร้อมวิธีปกป้องน้อง ๆ และการสังเกตอาการ เพื่อที่คุณจะได้เป็นสุดยอดผู้พิทักษ์ในสายตาเจ้าน้องไงล่ะ!

โรคฉี่หนู (Leptospirosis)

โรคนี้กับฤดูฝนนั้นเรียกได้ว่าเป็นของคู่กัน โดยไม่ได้ติดแค่กับคนเท่านั้น แต่ยังสามารถติดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ อย่างสุนัขและแมวได้ด้วย

สาเหตุ: การสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อโดยตรง เช่น หนู หรือสัตว์ฟันแทะอื่น ๆ หรือสัมผัสกับเชื้อที่ปนเปื้อนมากับสิ่งแวดล้อมที่เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยขีดข่วนบนผิวหนัง หรือเยื่อเมือก

อาการ: ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันว่าจะตอบสนองออกมาในรูปแบบไหน มีอาการตั้งแต่การซึม อ่อนแรง เบื่ออาหาร ท้องเสีย อาเจียน ปัสสาวะน้อยหรือมากผิดปกติ มีไข้ มีอาการดีซ่าน (ตัวเหลือง) ตลอดไปจนถึงขั้นไตวายเฉียบพลันและเสียชีวิต ควบคู่กับประวัติก่อนหน้าว่ามีบาดแผลตามตัวและไปเล่นน้ำสกปรกมา

การป้องกัน: ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูสำหรับน้องหมา โดยมักจะถูกรวมไปในวัคซีนรวมแล้ว เพราะฉะนั้นน้องหมาที่ถูกฉีดวัคซีนรวมและกระตุ้นทุกปีจะได้รับวัคซีนตัวนี้อยู่แล้ว แต่สำหรับน้องแมวนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ ด้วยพฤติกรรมที่ชอบล่าเหยื่อหรือออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้านของน้อง คุณพ่อคุณแม่จึงควรระวังเป็นพิเศษ

โรคพยาธิในเม็ดเลือด (Blood Parasites)

ในช่วงที่อากาศชื้นที่สุดของปี เป็นช่วงที่เหมาะสมในการฟักออกจากไข่ของเห็บหมัดที่สุด และพยาธิตัวปัญหาก็ตามมากับเจ้าเห็บนี่แหละ

สาเหตุ: การถูกเห็บหมัดกัด ทำให้เชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกายน้อง ๆ และไปอยู่ในกระแสเลือด โดยเชื้อพยาธิแต่ละชนิดจะเข้าไปโจมตีเม็ดเลือดต่างชนิดกันออกไป

อาการ: เซื่องซึม กินอาหารน้อยลง น้ำหนักลด ตัวร้อน มีไข้ และอาการดีซ่าน ซึ่งหากตัวหรือเหงือกกลายเป็นสีออกเหลือง เป็นสัญญาณบอกว่าอาการรุนแรงแล้ว ต้องรีบพาไปหาคุณสัตวแพทย์โดยด่วน!

การป้องกัน: ดูแลความสะอาดน้อง ๆ และตัวบ้านไม่ให้อับชื้น หรือใช้ยาป้องกันเห็บหมัด

โรคพยาธิหนอนหัวใจ (Heartworm Disease)

ในช่วงหน้าฝน พาหะตัวร้ายตลอดกาลอย่างยุงจะกัด สร้างความรำคาญและอาการคันให้น้องหมาน้องแมว และยังแพร่กระจายโรคที่ร้ายแรงให้น้อง ๆ ได้ด้วย

สาเหตุ: ถูกยุงกัดและได้รับเชื้อพยาธิหนอนหัวใจเข้าไปในกระแสเลือด หลังจากนั้นมันจะเติบโตอยู่ภายในตัวสัตว์เลี้ยงจนโตเต็มวัย และย้ายไปอาศัยอยู่ในหัวใจห้องขวาล่างและเส้นเลือดแดงในปอดของน้อง ๆ แทน

อาการ: คัน เซื่องซึม เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย ไอแห้ง เป็นลม บวมน้ำ ท้องมาน หายใจลำบาก กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว

การป้องกัน: ควบคุมประชากรยุงรอบ ๆ บ้านและป้องกันน้องหมาน้องแมวไม่ให้ถูกยุงกัด

โรคผิวหนังอักเสบติดเชื้อ (Pyoderma)

อากาศที่เปียกชื้นทำให้เจ้าน้องไม่สบายตัว ทำให้เชื้อก่อโรคอย่างแบคทีเรียและเชื้อราทำให้น้อง ๆ เป็นโรคผิวหนังได้

สาเหตุ: การที่น้องนอนข้างนอกบ้าน บนพื้นหรือวัสดุที่เปียกชื้น เล่นน้ำฝน และไม่ได้เป่าขนให้แห้งอย่างถูกวิธี

อาการ: คัน มีผื่นแดง เม็ดตุ่มแดง ตุ่มหนอง ขนร่วง และมีกลิ่นตัว

การป้องกัน: หมั่นอาบน้ำและดูแลขนของน้อง ๆ ให้แห้งอยู่เสมอ

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ (Respiratory Disease)

ความชื้นของหน้าฝนทำให้เชื้อโรคบางอย่างเติบโตได้ดี เช่น โรคหวัด หรือโรคหลอดลมอักเสบที่ติดต่อกันได้ในสุนัข

สาเหตุ: เชื้อโรคหรือไวรัสที่อาจปนเปื้อนมากับภาชนะสิ่งของ มือคนที่มาสัมผัสน้อง หรือการแพร่กระจายในอากาศ หรือแม้แต่ความเครียดของตัวน้องเองก็ตาม

อาการ: ไอ จาม ซึม เบื่ออาหาร มีไข้ ไม่มีแรง มีน้ำมูกและน้ำตา ตลอดจนมีน้ำมูกข้นหรือสีเข้ม หอบ หายใจกระแทก ซึ่งนำไปสู่ภาวะปอดติดเชื้อจนเสียชีวิตได้

การป้องกัน: สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนประจำปี ให้น้องอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับน้องสัตว์ที่ป่วย

🗨️ หากใครมีทิปส์ดี ๆ ในการปกป้องเจ้าน้องจากสายฝนและพายุ แชร์คำตอบกับเราใน Facebook: MyFriend – Your Pet’s App หรือ Instagram: @myfriendyourpetsapp ได้เลย!

บทความนี้ผ่านการตรวจสอบเนื้อหาโดยสัตวแพทย์จากโรงพยาบาลสัตว์เล็ก คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUVET)


👩‍⚕️👨‍⚕️ MyFriend’s Healthcare บทความสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจากทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องสุขภาพกายและใจของน้อง ๆ สัตว์เลี้ยงที่สมบูรณ์แข็งแรง!

🐶🐱 MyFriend แอปของเหล่าสัตว์เลี้ยง ให้คุณพ่อคุณแม่ดูแลเจ้าน้องเพื่อนซี้ได้ดียิ่งขึ้น ด้วยบริการและคอนเทนต์สนุก ๆ มากมาย!

References

Author

Enjoyed the article? Share with a Friend!